สถาบันทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำราชมงคลตรัง

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง.

พะยูน
DUgongA_02

ข้อมูลทั่วไปของพะยูน

“พะยูน”

เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมที่อาศัยอยู่ในทะเล เชื่อว่าพะยูนเคยอาศัยหากินอยู่บนบก และมีบรรพบุรุษที่ใกล้เคียงกับบรรพบุรุษของช้าง เมื่อราว 55 ล้านปีมาแล้วสายพันธุ์ของพะยูนได้มีวิวัฒนาการลงไปอยู่ในน้ำและไม่กลับขึ้นมาอยู่บนบกอีกเลย เช่นเดียวกับพวกโลมาและปลาวาฬ

พะยูน (Dugong dugon)

มีลำตัวรูปกระสวยคล้ายโลมา ลำตัวมีสีเทาอมชมพูหรือน้ำตาลเทา สีของส่วนท้องอ่อนกว่า พะยูนมีขนสั้นๆ ประปรายตลอดลำตัวและมีขนเส้นใหญ่อยู่อย่างหนาแน่นบริเวณปาก มีตาและหูขนาดเล็กอย่างละคู่ ส่วนของหูเป็นรูเปิดเล็กๆ ไม่มีใบหู มีรูจมูกอยู่ชิดกันหนึ่งคู่ รูจมูกมีลิ้นปิด-เปิด พะยูนหายใจทุก 1-2 นาที มีครีบด้านหน้าหนึ่งคู่อยู่สองข้างของลำตัวและมีติ่งนมอยู่ด้านหลังของฐานครีบ ครีบทั้งสองเปลี่ยนแปลงมาจากขาคู่หน้า ภายในครีบประกอบด้วยนิ้ว 5 นิ้ว ปกติพะยูนว่ายน้ำช้าด้วยความเร็ว 1.8-2.2 กิโลเมตร/ชั่วโมง พะยูนมีกระดูกที่มีโครงสร้างแน่นและหนักซึ่งเหมาะกับวิถีชีวิตของพะยูนที่อาศัยหากินอยู่ที่พื้น พะยูนไม่มีอาวุธป้องกันตัว มีเพียงลำตัวที่ใหญ่ มีหนังหนาซึ่งอาจป้องกันอันตรายจากการกัดหรือทำร้ายจากสัตว์อื่นเช่น ฉลาม เมื่อมีบาดแผลเลือดแข็งตัวได้เร็วมาก ส่วนลูกอ่อนจะอยู่กับแม่และอาศัยตัวแม่เป็นโล่กำบังที่ดี

ชื่อเรียกพะยูน

มีหลายชื่อด้วยกัน คือ หมูน้ำ หมูดุด ดูหยง เงือก วัวทะเล และดูกอง “พะยูน หรือปลาพะยูน” เป็นชื่อที่นิยมใช้ทั่วไปในประเทศไทย (บางแห่งอาจเขียนเป็น “พะยูน หรือ พยูร”) ส่วนชาวปักษ์ใต้นิยมเรียกพะยูนว่า “ดูหยง หรือ ตูหยง” ซึ่งมาจากภาษามาเลเซียที่ใช้เรียกพะยูน (Dugong, sea pig หรือหมูทะเล) ในภาษาเขียนบ้านเราในบางแห่งอาจเพี้ยนไปเป็น “ดุยง ดุหยง ตุยง หรือตุหยง” และชาวใต้ยังเรียกพะยูนอีกชื่อหนึ่งว่า “หมูน้ำ” ซึ่งอาจมาจากลักษณะของเนื้อพะยูนที่มีสีสันและรสชาติคล้ายเนื้อหมู อีกนัยหนึ่งอาจมาจากรูปร่างที่อ้วนพร้อมทั้งมีขนตามลำตัวและลักษณะการกินอาหารที่คล้ายหมูก็ได้ สมัยก่อนพบพะยูนมากในทะเลไทยทั้งสองฝั่ง และคนไทยน่าจะมีความผูกพันกับพะยูนอย่างมากมาช้านานแล้ว อาจจะเป็นเพราะทั้งความน่ารักน่าสงสารของพะยูน การที่พะยูนเป็นสัตว์มีรูปร่างพิเศษ หรือมีเนื้อที่มีรสชาดดี รวมทั้งความเชื่อต่างๆ ที่มีเกี่ยวกับพะยูน หลักฐานความผูกพันของคนไทยกับพะยูน คือการนำชื่อที่ใช้เรียกพะยูนไปตั้งเป็นชื่อสถานที่ที่อยู่ติดกับชายฝั่งทะเล ได้แก่ คำว่า “พะยูน หมูดุด ตุหยง ดุหยง ตุยง” ชื่อสถานที่ต่างๆ เหล่านี้น่าจะถูกเรียกต่อๆ กันมานับร้อยปีแล้ว และในประเทศไทยคงไม่มีชื่อสัตว์ทะเลชนิดอื่นใดที่ถูกนำไปตั้งเป็นชื่อสถานที่มากเท่าชื่อพะยูน และยังไม่พบรายงานจากที่อื่นที่กล่าวถึงการนำชื่อพะยูนไปตั้งเป็นชื่อสถานที่

จังหวัดตรัง

มีการอนุรักษ์พะยูนอย่างกว้างขวาง กอรปกับเป็นแหล่งที่มีพะยูนอาศัยอยู่มากที่สุดในประเทศไทย พะยูนจึงกลายเป็นสัตว์สัญลักษณ์ของจังหวัดในการอนุรักษ์ (flagship species) เมื่อปี พ.ศ. 2539 มีการนำพะยูนไปเป็นสัตว์นำโชคในกีฬาแห่งชาติครั้งที่ 29 หรือ “พะยูนเกมส์” มีรูปพะยูนหรือรูปปั้นพะยูนอยู่มากมาย เช่น รูปปั้นพะยูนคู่หนึ่งที่หน้าทางเข้าพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง รูปปั้นพะยูนที่ฉางหลางรีสอร์ท หุ่นสต๊าฟพะยูนที่อุทยานแห่งชาติเจ้าไหม ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง และที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งจังหวัดตรัง มีร้านค้าและสำนักงานหลายแห่งในตัวเมืองตรังนำคำว่าพะยูนไปเป็นชื่อร้าน เช่น สำนักทนายความ ร้านอาหาร บริษัทท่องเที่ยว (พะยูนทราเวล) ร้านถ่ายรูป (พะยูนเอ็กซ์เพลส) มีรูปพะยูนตามป้ายต่างๆ เช่น ป้ายหน้าโรงเรียนปาตูดูเป๊ะบนเกาะตะลิบง ป้ายหน้าอุทยานแห่งชาติเจ้าไหม ข้างรถตุ๊กตุ๊ก เป็นต้น

ตารางคำเรียกชื่อพะยูนต่างๆ และการนำไปตั้งเป็นชื่อสถานที่ต่างๆ

ชื่อเรียก จังหวัด อำเภอ ตำบล หมู่บ้านและอื่นๆ
หมูดูด จันทบุรี ท่าใหม่ คลองขุด บ้านหมูดุด วัดหมูดุด โรงเรียนบ้านหมูดุด
พะยูน ระยอง บ้านฉาง พลา บ้านพยูน หาดพยูน โรงเรียนบ้านพยูน
พะยูน พัทลุง ปากพยูน ปากพะยูน ตลาดปากพยูน (หมู่ที่1)
ดุหยง กระบี่ เกาะลันตา เกาะลันตา บ้านโล๊ะดุหยง (หมู่ที่5)

ที่มา : คลังความรู้ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

DUgongA_03
DUgongA_04
หญ้าทะเล

หญ้าทะเล (seagrass)

ข้อมูลทั่วไป

ระบบนิเวศหญ้าทะเล ประกอบด้วยกลุ่มของพืชดอกที่ปรับตัวเติบโตอยู่ได้ในทะเล และสามารถเจริญได้ดีในบริเวณน้ำตื้นที่มีแสงแดดส่องถึง โครงสร้างของใบที่ซับซ้อนมีความสำคัญในด้านเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยแหล่งอนุบาลตัวอ่อนสัตว์น้ำ ตลอดจนเป็นแหล่งหากินของสัตว์ทะเลนานาชนิด รวมถึงสัตว์น้ำเศรษฐกิจอัน ได้แก่ ปลา กุ้ง ปู หอยหลายชนิด และยังมีส่วนช่วยในการกรองและปรับปรุงคุณภาพน้ำ ด้วยเพราะหญ้าทะเลมีระบบรากที่คอยยึดจับ เพื่อป้องกันการพังทลายของหน้าดินได้เป็นอย่างดี นอกจากนั้นสามารถพบสัตว์ทะเลหายากและใกล้สูญพันธุ์ อย่างเช่น เต่าทะเลบางชนิด และพะยูน ได้ในพื้นที่หญ้าทะเลบางแห่ง โดยสัตว์ทะเลทั้งสองชนิดนี้จะกินหญ้าทะเลเป็นอาหารโดยตรง รวมถึงยังมีความสำคัญทางด้านเศรษฐกิจจากการทำประมงในแหล่งหญ้า เช่น การรวบรวมลูกปลาเก๋าเพื่อนำไปเพาะเลี้ยงต่อในกระชัง การทำประมงอื่น ๆ เช่น อวนจมปู แร้วปู และลอบ เป็นต้น ที่มา : คลังความรู้ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

หญ้าอำพัน หรือหญ้าใบมะกูด
(Halophila ovalis)

หญ้าคาทะเล
(Enhalus acoroides)

หญ้าชะเงาใบฟันเลื่อย (Cymodocea serrulata)

neri_logo

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง
ที่ตั้ง : 179 หมู่ 3 ต.ไม้ฝาด อ.สิเกา จ.ตรัง 92150 
โทรศัพท์จองการเข้าชมพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำ
(Aquarium) : 098-016-1076
อีเมล์จองเข้าชม Aquarium : nrei.ticket@gmail.com

Back to top arrow